SCB EIC มองส่งออกไทยฟื้นตัวแผ่วลง ทั้งปียังมองเติบโตเป็นบวกตามทิศทางการค้าโลก การนำเข้าสินค้าทุนและอุปโภคบริโภคเร่งตัว
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB EIC ขอนำส่งบทวิเคราะห์ เรื่อง ส่งออกไทยฟื้นตัวแผ่วลง ทั้งปียังมองเติบโตเป็นบวกตามทิศทางการค้าโลก การนำเข้าสินค้าทุนและอุปโภคบริโภคเร่งตัว มาเพื่อโปรดพิจารณา และขอขอบพระคุณในความอนุเคราะห์นำเสนอข่าวสารของธนาคารด้วยดีเสมอมา
ขอแสดงความนับถือ
ทีมประชาสัมพันธ์ ธนาคารไทยพาณิชย์
ผู้เขียนบทวิเคราะห์
นางสาวณัฐณิชา สุขประวิทย์ นักเศรษฐศาสตร์
นายวิชาญ กุลาตี นักเศรษฐศาสตร์
ส่งออกไทยฟื้นตัวแผ่วลง ทั้งปียังมองเติบโตเป็นบวกตามทิศทางการค้าโลก การนำเข้าสินค้าทุนและอุปโภคบริโภคเร่งตัว
สัญญาณฟื้นตัวการส่งออกไทยระยะสั้นแผ่วลง
มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในเดือน ก.พ. 2024 อยู่ที่ 23,384.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวได้เพียง 3.6%YOY (เทียบกับเดือน ก.พ. 2023) ต่ำกว่าอัตราการขยายตัวในเดือนก่อนที่ 10% อยู่มาก อีกทั้ง ยังหดตัว -2% MOM_sa (เทียบกับเดือน ม.ค. 2024 แบบปรับฤดูกาล) นอกจากนี้ การขยายตัวของการส่งออกในเดือน ก.พ. ส่วนหนึ่งมาจากการส่งออกทองคำที่ขยายตัวมากถึง 309.5%YOY (คิดเป็น Contribution to %YOY Growth = 2.4%) ซึ่งไม่ได้สะท้อนสภาวะการส่งออกสินค้าที่แท้จริง โดยการส่งออกไทยไม่รวมทองคำขยายตัวเพียง 1.2%YOY และหดตัว -2.1%MOM_SA สะท้อนว่าสัญญาณการฟื้นตัวของการส่งออกไทยในระยะสั้นแผ่วลง
การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมขยายตัวชะลอลง ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรและแร่และเชื้อเพลิงหดตัว
ภาพรวมการส่งออกรายสินค้าดีขึ้นในบางกลุ่ม นำโดย (1) สินค้าเกษตรขยายตัว 7.5% ต่อเนื่องจาก 14% ในเดือนก่อน โดยเฉพาะข้าว ยางพารา ขณะที่ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเป็นสินค้าสำคัญที่หดตัว (2) สินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 5.2% ต่อเนื่องจาก 10.3% ในเดือนก่อน โดยเฉพาะหม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ขณะที่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นสินค้าสำคัญที่หดตัว (3) สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรกลับมาหดตัว -9.1% เป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน เทียบกับที่ขยายตัว 3.8% ในเดือนก่อน โดยผลไม้กระป๋องและแปรรูปและเครื่องดื่มเป็นสินค้าหลักที่ขยายตัวดี ขณะที่น้ำตาลทรายเป็นสินค้าสำคัญที่หดตัว และ (4) สินค้าแร่และเชื้อเพลิงหดตัว -8.5% เป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือนจากที่ขยายตัว 7.1% ในเดือนก่อน (รูปที่ 1 และ 3)
การส่งออกเดือนนี้ขยายตัวไม่ทั่วทุกตลาดสำคัญ
ภาพรวมการส่งออกขยายตัวในเกือบทุกตลาดสำคัญ โดย (1) ตลาดสหรัฐฯ ขยายตัว 15.5% ต่อเนื่องจาก 13.7% ในเดือนก่อน และเป็นการขยายตัวเกือบทุกกลุ่มสินค้า การส่งออกสินค้าสำคัญ 15 ลำดับแรกของตลาดนี้ขยายตัวถึง 12 รายการ โดยเฉพาะหม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ (78.5%) และอุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด (63.8%) (2) ตลาดสวิสเซอร์แลนด์ ขยายตัว 198.2% เร่งขึ้นจาก 5.1% ในเดือนก่อน จากการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับที่ขยายตัวถึง 688.1% ซึ่งคาดว่าเป็นทองคำ (3) ตลาดยุโรป ขยายตัว 1.7% ต่อเนื่องจาก 3.6% ในเดือนก่อน อย่างไรก็ดี (4) ตลาดจีน ญี่ปุ่น และตะวันออกกลาง เป็นตลาดสำคัญที่หดตัวที่ -5.7% -5.8% และ -9.8% ตามลำดับ (รูปที่ 1)
ดุลการค้าขาดดุลต่อจากการนำเข้าสินค้าทุนและสินค้าอุปโภคบริโภคสูงขึ้น โดยการนำเข้าจากจีนและยุโรปขยายตัวแข็งแกร่ง
มูลค่าการนำเข้าสินค้าในเดือน ก.พ. 2024 อยู่ที่ 23,938.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวต่อเนื่อง 3.2%YOY เทียบกับ 2.6% ในเดือนก่อน ในภาพรวมการนำเข้าขยายตัวทุกกลุ่มสินค้า ได้แก่ สินค้าทุนขยายตัวเร่งขึ้น 25.6% สินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวแข็งแกร่ง 12% สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปขยายตัว 6.5% ขณะที่กลุ่มยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่งหดตัว -17.1% และสินค้าเชื้อเพลิงหดตัวแรง -22.9% สำหรับภาพรวมการนำเข้ารายประเทศขยายตัวจาก 2 ตลาดหลัก คือ (1) ตลาดยุโรปกลับมาขยายตัว 39.8% จากการนำเข้าเครื่องบิน เครื่องร่อน อุปกรณ์การบินและส่วนประกอบที่ขยายตัว 2,793.7% เรือและสิ่งก่อสร้างลอยน้ำที่ขยายตัว 1179.1% และ (2) ตลาดจีนขยายตัวเร่งขึ้น 14% โดยเฉพาะการนำเข้าเครื่องใช้และเครื่องตกแต่งภายในบ้านที่ขยายตัว 56.6% และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบที่ขยายตัว 92%
ดุลการค้าระบบศุลกากรในเดือนนี้ขาดดุลเล็กน้อยที่ -554 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับขาดดุล -2,757.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือน ม.ค. 2024 สำหรับภาพรวม 2 เดือนแรกของปี 2024 ดุลการค้าขาดดุล -3,311.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (รูปที่ 2)
การส่งออกเดือน มี.ค. มีแนวโน้มหดตัวแรงจากปัจจัยฐานสูง แต่การเคลื่อนย้ายอาวุธเกี่ยวกับการซ้อมรบนอกประเทศอาจช่วยให้ส่งออกไม่หดตัวแรงมาก
SCB EIC ประเมินว่าการส่งออกสินค้าเดือน มี.ค. 2024 ในรูป %YOY มีแนวโน้มหดตัวแรงจากปัจจัยฐานสูง แม้ภาคการผลิตและการค้าโลกจะอยู่ในทิศทางการฟื้นตัว เนื่องจากมีการส่งออกทองคำในเดือน มี.ค. 2023 มากถึง 1,568.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าปกติมาก ข้อมูลจากการแถลงข่าวของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ประเมินว่ามูลค่าการส่งออกในเดือน มี.ค. 2024 จะอยู่ที่ราว 25,500 – 26,500 หดตัวประมาณ -5.4% ถึง -8.9% อย่างไรก็ดี ยังมีความไม่แน่นอนจากการฝึกซ้อมรบ Cobra Gold ซึ่งอาจเห็นการเคลื่อนย้ายอาวุธหรืออุปกรณ์ซ้อมรบออกนอกประเทศในเดือนหน้าผ่านระบบศุลกากร อาจเป็นปัจจัยช่วยให้ตัวเลขส่งออกเดือน มี.ค. ไม่ติดลบรุนแรงนัก อย่างไรก็ดี ทั้งสองประเด็นไม่ได้สะท้อนสภาวะการส่งออกสินค้าของไทยได้อย่างแท้จริง นอกจากนี้ การเคลื่อนย้ายอาวุธที่เกี่ยวกับการฝึกซ้อมรบ Cobra Gold จะไม่ถูกนับรวมในมูลค่าการส่งออกสินค้าตามระบบดุลการชำระเงิน
SCB EIC ประเมินมูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวต่อเนื่อง 3.1% ในปีนี้ ปรับลดมุมมองจากประมาณการเดิมที่ 3.7%
มูลค่าการส่งออกไทยจะพลิกกลับมาขยายตัวได้ในปี 2024 จากแรงสนับสนุนหลายด้าน ได้แก่ (1) ปริมาณการค้าโลกที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่จะขยายตัวใกล้เคียงปีที่แล้ว (2) ภาคการผลิตที่เกี่ยวเนื่องกับการค้าระหว่างประเทศจะกลับมามีบทบาทขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกมากขึ้นในปีนี้ เห็นจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตโลกในเดือน ก.พ. ที่ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 50.3 ซึ่งเกินระดับ 50 เป็นครั้งแรกในรอบ 18 เดือน นอกจากนี้ ดัชนี PMI ยอดคำสั่งซื้อใหม่ (Export order) และดัชนี PMI ปริมาณผลผลิตในอนาคต (Future output) เริ่มขยายตัวตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว สะท้อนให้เห็นถึงการขยายตัวของภาคการผลิตในระยะข้างหน้า (รูปที่ 4) (3) ราคาสินค้าส่งออกที่มีแนวโน้มสูง เช่น ราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามปริมาณผลผลิตในตลาดโลกที่ลดลงจากภัยแล้งและนโยบายควบคุมการส่งออกสินค้าในบางประเทศ
อย่างไรก็ตาม SCB EIC ปรับลดประมาณการการส่งออกไทยในปี 2024 อยู่ที่ 3.1% (จาก 3.7%) (ข้อมูลระบบดุลการชำระเงิน) ตามการขยายตัวของปริมาณการค้าโลกในปีนี้ที่ยังมีแนวโน้มดี แต่ต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ จากปัญหาการโจมตีของกบฏฮูตีและความแห้งแล้งของคลองปานามา (รูปที่ 5) ปัญหาการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจ และมาตรการกีดกันทางการค้าที่ถูกนำมาใช้เพิ่มเติม (รูปที่ 6) นอกจากนี้ สาเหตุที่การส่งออกไทยในช่วงที่ผ่านมาขยายตัวได้ดี ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยพิเศษ เช่น ทองคำ จึงอาจไม่สะท้อนภาพการฟื้นตัวของการส่งออกไทยได้ดีนัก
สินค้าในโลกเปลี่ยนไปในระยะยาว
แม้ภาคการผลิตโลกจะฟื้นตัวจากช่วงโควิดแล้ว แต่ภาคการผลิตไทยที่เน้นผลิตเพื่อส่งออกยังไม่ฟื้นกลับไปเท่าระดับก่อนโควิด สะท้อนจาก 1) ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและอัตราการใช้กำลังการผลิตในปี 2023 ที่ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในปี 2017 – 2019 2) การผลิตเกือบทุกอุตสาหกรรม (เกือบ 80% ของมูลค่าเพิ่มภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด) ยกเว้นอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล เคมีภัณฑ์ และอิเล็กทรอนิกส์ ยังไม่ฟื้นตัว (รูปที่ 7) และ 3) ดัชนีผู้จัดการ
ฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตไทยมีแนวโน้มปรับแย่ลง ต่างจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตโลกที่ปรับดีขึ้น (รูปที่ 4)
สาเหตุหลักเพราะการส่งออกสินค้าของไทยยังไม่สามารถปรับตัวตอบสนองรูปแบบความต้องการสินค้าในโลกและห่วงโซ่อุปทานโลกที่เปลี่ยนไปได้ดีนัก สะท้อนจากดัชนีความสามารถในการปรับตัวต่ออุปสงค์โลก (Adaptation effect index) ต่อการเปลี่ยนแปลงของสัดส่วนการครองตลาดโลก (Relative change of world market share) ที่จัดทำโดย International Trade Centre พบว่าดัชนีของไทยยังติดลบในหลายอุตสาหกรรมสำคัญ โดยเฉพาะอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์
รูปแบบความต้องการในตลาดโลกที่เปลี่ยนไปเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ศักยภาพการส่งออกไทยอยู่ในระดับต่ำเทียบกับศักยภาพของประเทศในภูมิภาค สะท้อนจากข้อมูล Export potential หรือมูลค่าศักยภาพการส่งออกของไทยใน 5 ปีข้างหน้า จัดทำโดย International Trade Centre ที่อยู่ในระดับต่ำกว่าประเทศในภูมิภาค โดยเฉพาะเวียดนาม มาเลเซีย และสิงคโปร์ นอกจากนั้น หากพิจารณารายอุตสาหกรรม จะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมไทยที่ส่งออกได้ต่ำกว่าศักยภาพมากที่สุด ได้แก่ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกลไฟฟ้า สินค้ายานยนต์ และผลิตภัณฑ์พลาสติกและยาง (รูปที่ 8) ดังนั้น ภาคการผลิตไทยจึงจำเป็นต้องเร่งปรับตัวให้สอดคล้องกับรูปแบบความต้องการที่เปลี่ยนไป เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของไทยในตลาดโลก
บทวิเคราะห์โดย... https://www.scbeic.com/th/detail/product/trade-260324
###
ประชาสัมพันธ์ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
กุณฑลี โพธิ์แก้ว โทร. 086-1308560 Email: koontalee.pokaew@scb.co.th
DISCLAIMER: This e-mail is intended solely for the recipient(s) name above. If you are not the intended recipient, any type of your use is prohibited. Any information, comment or statement contained in this e-mail, including any attachments (if any) are those of the author and are not necessarily endorsed by the Bank. The Bank shall, therefore, not be liable or responsible for any of such contents, including damages resulting from any virus transmitted by this e-mail. |
No comments