บพข. รฟฟท. บีทีเอส เอยูที สอวช และกระทรวง อว จับมือวิศวลาดกระบังผลิตแท่งสลายพลังงานจากวัสดุ BCG recycled 100% ครั้งแรกของโลก ภายใต้โครงการ “อีโค่-สมาร์ตแดมเปอร์จากส่วนผสมยางธรรมชาติเพื่อลดเสียงและการสั่นสะเทือนบนทางรถไฟ”
ด้วยการสนับสนุนการวิจัยจากรองศาสตราจารย์ ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ตามนโยบายผู้นำนวัตกรรมระดับโลก "The World Master of Innovation" ของสถาบันฯ รองศาสตราจารย์ ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) คุณธรณิน ณ เชียงตุง กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ.ยู.ที. จำกัด และ รองศาสตราจารย์ ดร.สมยศ เกียรติวนิชวิไล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเปิดงานสัมมนาถ่ายทอดความรู้ เรื่อง "เสียงและการสั่นสะเทือนในระบบราง" ภายใต้โครงการวิจัย "อีโค่-สมาร์ตแดมเปอร์จากส่วนผสมยางธรรมชาติเพื่อลดเสียงและการสั่นสะเทือนบนทางรถไฟ" ณ โรงแรมแกรนด์ ฟอร์จูน กรุงเทพฯ
รองศาสตราจารย์ ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กล่าวว่า "ระบบขนส่งทางรางในปัจจุบันมีบทบาทสำคัญในชีวิตของประชาชน รวมทั้งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ก่อให้เกิดการขยายตัวแบบก้าวกระโดด จึงอาจส่งผลให้เกิดมลภาวะทางเสียงและการสั่นสะเทือนจากทางรถไฟเพิ่มมากขึ้นตามแนวเส้นทางรถไฟ โดยเฉพาะเส้นทางที่วิ่งผ่านชุมชนเมือง ทำให้มีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศที่พยายามจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวเพื่อลดเสียงและการสั่นสะเทือนที่แหล่งกำเนิด ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้นำเสนอวิธีการติดตั้งแดมเปอร์แท่งสลายพลังงานบนรางรถไฟจากวัสดุ BCG สามารถ recycled 100% เป็นครั้งแรกของโลกด้วยการใช้ยางพาราเป็นส่วนผสม เนื่องจากเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพ ในราคาที่สมเหตุสมผล สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตรในประเทศ ผลจากการทดสอบการวิจัยด้วยการใช้งานจริงสามารถลดระดับความเข้มเสียงได้ดี ลดโอกาสการเกิดคลื่นของรางอันเนื่องจากการสั่นสะเทือนได้ ลดค่าใช้จ่ายการบำรุงรักษา ครั้งนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญที่ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงสถาบันการศึกษาจะมาร่วมกันเร่งการะบวนการสร้างผู้ผลิตในอุตสาหกรรมระบบรางที่มีความพร้อมด้านการวิจัยและพัฒนา และการต่อยอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เพื่อยกระดับระบบขนส่งทางรางของไทยควบคู่กับการพัฒนาอุตสาหกรรม และการร่วมสัมมนาถ่ายทอดความรู้ในครั้งนี้ ทุกฝ่ายจะได้นำความรู้และผลิตภัณฑ์ที่ได้ไปสร้างประโยชน์สูงสุดแก่หน่วยงานและประเทศต่อไป"
นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด กล่าวว่า " จากนโยบาย Thai First ของกระทรวงคมนาคมและนโยบายของรัฐบาลด้านการสนับสนุนส่งเสริมให้ใช้ผลิตภัณฑ์สินค้าที่ผลิตในประเทศ จุดประกายให้เกิดการพัฒนาแท่งสลายพลังงานเพื่อลดเสียงและการสั่นสะเทือนบนทางรถไฟ โดยโครงการดังกล่าวเกิดจากความร่วมมือระหว่างผู้สนับสนุนทุนวิจัยคือ บพข. และบริษัท เอ.ยู.ที. จำกัด หน่วยงานวิจัยจากทีมสจล.และ มจพ. หน่วยงานที่ให้บริการการขนส่งในระบบราง บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด และบริษัท ระบบขนส่งมวลขนกรุงเทพ จำกัด ผู้ที่ให้การสนับสนุนด้านการทดสอบมาโดยตลอดเพื่อให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีจากห้องปฏิบัติการสู่การทดลองใช้งานจริง และก้าวเข้าสู่การต่อยอดสู่ระดับการเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถแข่งขันทางธุรกิจได้จริง"
รองศาสตราจารย์ ดร.สมยศ เกียรติวนิชวิไล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล กล่าวว่า "การวิจัยเรื่อง เสียงและการสั่นสะเทือนในระบบราง ภายใต้โครงการวิจัย "อีโค่-สมาร์ตแดมเปอร์จากส่วนผสมยางธรรมชาติเพื่อลดเสียงและการสั่นสะเทือนบนทางรถไฟ" เป็นโครงการภายใต้โปรแกรมยกระดับความสามารถการแข่งขันและวางรากฐานทางเศรษฐกิจเพื่อการพึ่งพาตนเองในระดับประเทศ ของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) มีเป้าหมายหลักคือพัฒนาแท่งสลายพลังงานเพื่อลดมลพิษทางเสียงและการสั่นสะเทือน (Green Tuned Rail Damper) การวิจัยครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) บริษัท เอ.ยู.ที. จำกัด สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการสนับสนุนด้านการทดสอบตลอดการวิจัยจากบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งมี ผศ.ดร.รัฐภูมิ ปริชาตปรีชา เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย ได้สรุป 8 จุดเด่นของงานวิจัยชิ้นนี้ ดังนี้
1. สามารถแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมจากมลพิษทางเสียงที่เกิดจากรถไฟลดเสียงดังที่ต้นเหตุ ตั้งแต่ 3-7 เดซิเบล
2. สามารถเพิ่มสมรรถนะของทางรถไฟ ลดวงรอบการซ่อมบำรุงจากการเจียร์ราง
3. การทำงานติดตั้งง่าย ไม่ต้องบำรุงรักษา คุ้มค่ากว่ากำแพงกันเสียง
4. ทำจากวัสดุ BCG ที่รีไซเคิลได้ 100%
5. สามารถใช้ยางพาราเป็นส่วนผสมได้ถึง 50% ของวัสดุพอลีเมอร์ สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตร
6. ยกระดับจาก อุตสาหกรรม Tire 3 สู่ Tier 1 (มีการออกแบบ ผลิตและทดสอบโดย นักวิจัยจาก สจล. ร่วมกับ บริษัทเอกชนไทย เน้นการใช้วัสดุในประเทศ 100% )
7. ผ่านการทดสอบทั้งในห้องปฏิบัติการและการนำมาใช้จริงในประเทศไทยโดยใช้กับรถไฟฟ้าในเมืองและชานเมือง เข้าสู่ TRL ระดับ 8
8. ยกระดับและสร้างนิเวศอุตสาหกรรมระบบรางในประเทศ อนาคตมีเป้าหมายที่จะส่งออกสู่ทวีปยุโรป เอเชียและออสเตรเลีย เป็นการสร้างรายได้นำกลับเข้าสู่ประเทศไทย
การนำผลการวิจัยและนำองค์ความรู้ที่ผ่านการออกแบบ ทดสอบ และการทดลองติดตั้งใช้งานจริง ถือเป็นขั้นตอนสำคัญก่อนที่จะนำมาผลิตเพื่อการต่อยอดสู่ธุรกิจต่อไป ส่วนสำคัญคือความร่วมมืออย่างเข้มแข็งระหว่าง สจล. และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างนิเวศทางอุตสาหกรรมให้เข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป"
No comments